Frequently Asked Question (FAQ)
คำถามที่พบบ่อย
หมวด : การเงินจ่าย
1 |
Q
การสมัครใช้โปรแกรมหรือแอพพลิเคชั่นหรือการสมัครสมาชิกโดยมิใช่ชื่อของหน่วยงานในการสมัครสามารถทำได้หรือไม่
A
กรณีที่มีการสมัครโดยใช้ชื่อบุคลากรมิใช่ชื่อหน่วยงาน ขอให้หัวหน้าหน่วยงานมอบหมายให้บุคลากรหรืออาจารย์ท่านนั้นเป็นผู้ดำเนินการรับผิดชอบในการสมัครและหากจำเป็นต้องจ่ายค่าใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตขอให้ระบุตั้งแต่การขออนุมัติในหลักการ เช่น การสมัครใช้แอพพลิเคชั่นไลน์ของหน่วยงาน มอบหมายให้ใครเป็นผู้สมัครและให้ใช้บัตรเครดิตใครในการทำรายการหักค่าใช้จ่าย
|
2 |
Q
ค่ารับรองสถาบันการศึกษาวิชาพยาบาลและการผดุงครรภ์ เป็นค่าใช้จ่ายจ่ายล่วงหน้าหรือไม่
A
เนื่องจากสภาการพยาบาลเรียกเก็บค่าใช้จ่ายก่อนการตรวจประเมิน โดยค่าใช้จ่ายดังกล่าวไม่สัมพันธ์กับระยะเวลา และไม่สัมพันธ์กับผลการประเมิน หากผลการตรวจประเมินจะผ่านหรือไม่ผ่านเกณฑ์ก็ยังคงต้องจ่ายค่ารับรองสถาบันดังกล่าว จึงเห็นควรเลือกรายการบัญชีเป็น ค่าธรรมเนียม(ค่าใช้จ่าย)
|
3 |
Q
ค่าบำรุงสมาชิกรายปีปฏิทิน (มกราคม-ธันวาคม) แต่มีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในช่วงเดือนเมษายน ต้องบันทึกรายการบัญชีอย่างไร
A
การบันทึกบัญชีรายการที่เป็นค่าใช้จ่ายจ่ายล่วงหน้า ให้บันทึกรายการค่าใช้จ่ายทั้งหมดเป็นค่าใช้จ่ายจ่ายล่วงหน้า โดยงานบัญชีและวิเคราะห์งบการเงิน กองคลัง จะเป็นผู้ดำเนินการปรับปรุงรายการบัญชีตามหลักเกณฑ์คงค้างต่อไป หน่วยงานสามารถบันทึกรายการได้ตามบันทึกข้อความที่ อว 0603.01.08)6)/ว4347 ลงวันที่ 5 กันยายน 2565 เรื่อง ขอแจ้งเวียนคุ่มือการใช้งานกระบวนการบันทึกรายการค่าใช้จ่ายจ่ายล่วงหน้าในระบบ 3 มิติ
|
4 |
Q
การขออนุมัติดำเนินโครงการฝึกอบรม/สัมมนา ศึกษาดูงาน จำเป็นจะต้องระบุสถานที่จัดหรือไม่
A
การขออนุมัติดำเนินโครงการ ต้องระบุสาระสำคัญให้ครบถ้วนเนื่องจากมีผลต่อการคำนวณค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการ/กิจกรรม ซึ่งประกอบด้วย
- รูปแบบ/วัตถุประสงค์การดำเนินโครงการ/กิจกรรม - งบประมาณที่จะใช้ในการดำเนินโครงการ/กิจกรรม - ระยะเวลาที่จะดำเนินโครงการ/กิจกรรม - กลุ่มเป้าหมายในการจัดโครงการ/กิจกรรม - วัน เวลา สถานที่ในการจัดโครงการ/กิจกรรม(สถานที่เอกขนหรือราชการ) - กำหนดการ |
5 |
Q
การขออนุมัติโครงการ ในส่วนของรายละเอียดค่าใช้จ่ายในโครงการมักจะมีการใส่คำว่า “ถัวเฉลี่ยทุกรายการ” สามารถถัวเฉลี่ยค่าใช้จ่ายได้มากน้อยเพียงใด มีหลักเกณฑ์หรือไม่
A
โดยปกติการขออนุมัติโครงการจะตั้งงบประมาณค่าใช้จ่ายที่จำเป็นต่อการดำเนินโครงการไว้สอดคล้องกับแผนการดำเนินการ ในกรณีที่มีการตั้งงบประมาณค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ไว้ จะสามารถใช้ได้ในกรณีที่เป็นค่าใช้จ่ายเบ็ดเตล็ดหรือค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่หากเป็นค่าใช้จ่ายที่มีสาระสำคัญ หน่วยงานควรดำเนินการขออนุมัติเปลี่ยนแปลงค่าใช้จ่ายเพื่อให้สอดคล้องกับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง
|
6 |
Q
หากมีการจัดโครงการศึกษาดูงานในช่วงสิ้นเดือน โดยใช้พาหนะเป็นรถบัสของมหาวิทยาลัยและมีการเบิกค่าน้ำมันเชื้อเพลิง เมื่ออาจารย์กลับมาถึงจึงจะนำใบเสร็จมาให้การเงินในวันถัดไปเพื่อดำเนินการตรวจรับ สามารถขยายระยะเวลาการปิดรอบบัญชีของมหาวิทยาลัยเพื่อดำเนินการในระบบ 3 มิติ ได้หรือไม่
A
หน่วยงานควรมีการบริหารจัดการภายในหน่วยงานให้สอดคล้องกับแนวปฏิบัติของมหาวิทยาลัย กรณีที่เป็นค่าใช้จ่ายที่รับทราบอยู่แล้วว่าจะเกิดขึ้นในช่วงสิ้นเดือน ผู้ปฏิบัติงานจะต้องประสานงานกับผู้จัดโครงการเพื่อให้ดำเนินการในระบบ 3 มิติ ได้โดยเร็ว เนื่องจากกองคลังต้องปิดงบการเงินประจำเดือนของมหาวิทยาลัยภายในวันที่ 10 ของทุกเดือนเพื่อส่งให้หน่วยงานภายนอกจึงจำเป็นต้องกำหนดระยะเวลาในการปิดระบบบัญชี 3 มิติ
|
7 |
Q
การเบิกจ่ายค่าอาหาร/อาหารว่างและเครื่องดื่ม ในการจัดประชุม/อบรม/สัมมนา/โครงการและกิจกรรมต่างๆ จะต้องระบุอะไรบ้าง
A
ค่าอาหารและอาหารว่างและเครื่องดื่มเป็นค่าใช้จ่ายที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างให้ใช้ใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษี บิลเงินสด หรือใบสำคัญรับเงินพร้อมสำเนาบัตรประชาชนของผู้ประกอบการ ระบุรายการดังต่อไปนี้ให้ครบถ้วน
- ชื่อ สถานที่อยู่ หรือที่ทำการของผู้รับเงิน - วัน เดือน ปีที่รับเงิน - รายการอาหาร โดยระบุเมนูอาหาร - จำนวนเงินทั้งตัวเลขและตัวอักษร และลายมือชื่อของผู้รับเงิน กรณีที่ทางร้านอาหารไม่สามารถระบุรายละเอียดรายการอาหารได้ในใบเสร็จรับเงินให้ผู้รับผิดชอบโครงการ/กิจกรรม ระบุ |
8 |
Q
การแก้ไขรายงานการเดินทางต้องให้หัวหน้าหน่วยงานเซ็นต์ชื่อกำกับหรือไม่
A
หากเป็นการแก้ไขรายงานการเดินทางในส่วนที่เป็นสาระสำคัญในเอกสาร และมีผลให้ การเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายเปลี่ยนแปลงไป ขอให้ผู้ขออนุมัติและผู้อนุมัติ/ผู้บังคับบัญชาในระดับสูงขึ้นไปลงนามกำกับการแก้ไขในครั้งนั้น เช่น การแก้ไขวันที่ในการเดินทางไปและกลับ การแก้ไขเวลาไปและกลับ การแก้ไขระยะทาง
|
9 |
Q
การเบิกเงินชดเชยค่าพาหนะรถยนต์ส่วนตัวในการเดินทางไปราชการสามารถใช้ Google map ได้ไหม
A
การเบิกเงินชดเชยให้ใช้เส้นทางของกรมทางหลวงในทางสั้นและตรงซึ่งสามารถเดินทางโดยสะดวกและปลอดภัย โดยสามารถใช้ระยะทางจากเว็บไซต์กรมทางหลวงได้(http://www.doh.go.th) ในกรณีที่ไม่มีเส้นทางกรมทางหลวง ให้ใช้ระยะทางตามเส้นทางของหน่วยงานอื่นที่ตัดผ่าน และในกรณีที่ไม่มีเส้นทางกรมทางหลวงและหน่วยงานอื่นให้ผู้เดินทางเป็นผู้รับรองระยะทางในการเดินทาง
|
10 |
Q
การคำนวณระยะทางเพื่อเบิกเงินชดเชยค่าพาหนะรถยนต์ส่วนตัวในการเดินทางไปราชการ มีกำหนดหลักเกณฑ์หรือไม่ว่าต้องใช้หลักฐานที่พิมพ์จากเว็บไซต์กรมทางหลวง หรือสามารถใช้แผนภูมิระยะทางก็ได้
A
ตามระเบียบฯ ระบุเพียงให้คำนวณระยะทางตามเส้นทางของกรมทางหลวงในทางสั้นและตรง หากหลักเกณฑ์ที่ใช้เป็นเส้นทางของกรมทางหลวงก็สามารถใช้ได้ทั้ง 2 แบบ และระยะทางที่ใช้ในการคำนวณถือว่าเป็นระยะทางที่ผู้เดินทางไปราชการรับรองแล้วว่าได้เดินทางตามระยะทางดังกล่าวจริง หากมีการตรวจพบภายหลังว่ามีการเบิกชดเชยค่าพาหนะเกินกว่าระยะทางตามสิทธิพึงได้รับ ผู้ขอเบิกจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบในส่วนที่เบิกชดเชยค่าพาหนะเกินกว่าสิทธิพึงได้รับไป
|
11 |
Q
การของดสอนและสอนชดเชยปกติจะเป็นการดูแลของงานวิชาการ แต่เอกสารที่ส่งมาให้การเงินของหน่วยงานมีการลบแก้ไข กรณีแบบนี้ต้องมีการลงลายมือชื่อกำกับจุดที่แก้ไขอย่างไร
A
การแก้ไขข้อมูลที่ถูกต้องให้ใช้วิธีการขีดฆ่าโดยไม่ใช้น้ำยาลบคำผิดและต้องลงนามกำกับจุดที่แก้ไขทุกครั้ง ในกรณีที่มีการแก้ไขข้อมูลที่มีสาระสำคัญและมีผลกระทบกับการเบิกจ่าย การลงนามกำกับการแก้ไขข้อมูลจะต้องลงนามโดยหัวหน้าหน่วยงานนั้นหรือผู้บังคับบัญชาในระดับที่เหนือกว่าเพื่อเป็นการป้องกันการแก้ไขข้อมูลภายหลังจากได้รับการอนุมัติแล้ว
|
12 |
Q
หลักเกณฑ์และวิธีการปิดอากรแสตมป์ต้องทำอย่างไร
A
หากเป็นการจ้างที่มีวงเงินไม่ถึง 200,000 บาท ให้ติดอากรแสตมป์ ตามประกาศ อธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับอากรแสตมป์ (ฉบับที่ 37) เรื่อง กำหนดวิธีการชำระอากรเป็นตัวเงินแทนการปิดแสตมป์อากรสำหรับตราสาร บางลักษณะ ทั้งนี้ให้ผู้รับจ้างเป็นผู้เสียอากรและขีดฆ่าแสตมป์ หรือผู้จ้างเป็นผู้ขีดฆ่าแสตมป์ เพื่อมิให้ใช้แสตมป์ได้อีก โดยการลงลายมือชื่อผู้รับจ้าง หรือชื่อห้างร้านลงบนแสตมป์ หรือขีดเส้นคร่อมฆ่าแสตมป์ และลงวัน เดือน ปีก็ได้
|
13 |
Q
กรณียืมเงินทดรองราชการเพื่อดำเนินการจัดประชุมจะต้องดำเนินการจ่ายค่าเบี้ยประชุมอย่างไร
A
การจ่ายเงินยืมจะจ่ายได้เฉพาะผู้ที่ลงนามในส่วนของผู้ยืมเงิน ตามสัญญาการยืมเงิน โดยจะจ่ายเป็นเงินสดโดยลงลายมือชื่อผู้จ่ายเงิน หรือจ่ายผ่านแอพพลิเคชั่นของธนาคารโดยโอนจากบัญชีชื่อผู้ยืมเงินเท่านั้น และจะต้องดำเนินการจ่ายเงินค่าตอบแทนในการประชุมภายในวันที่มีการจัดประชุม หรือวันถัดไปเป็นอย่างน้อย
|
14 |
Q
หากอาจารย์รองจ่ายโดยใช้เงินส่วนตัวของตัวเอง(ไม่ได้ยืมเงิน) ใช้หลักฐานในการเบิกจ่ายเป็นใบเสร็จรับเงิน หรือบิลเงินสด เหมือนเดิมใช่หรือไม่ และสามารถใช้หลักฐานการโอนเงินผ่านระบบพร้อมเพย์หรือแอพพลิเคชั่นของธนาคารแทนใบเสร็จรับเงินหรือบิลเงินสดได้หรือไม่
A
ให้ใช้หลักฐานในการเบิกจ่ายเหมือนการเบิกจ่ายด้วยเงินรองจ่าย หากเป็นการจ่ายโดยโอนเงินผ่านระบบพร้อมเพย์หรือแอพพลิเคชั่นของธนาคารและมีความประสงค์ใช้หลักฐานการโอนเงินเป็นหลักฐานการเบิกจ่าย ต้องขออนุมัติใช้หลักฐานการโอนเงินจากแอพพลิเคชั่นธนาคารโดยผู้มีอำนาจอนุมัติเบิกของหน่วยงาน
|
15 |
Q
กรณีหน่วยงานภายในมหาวิทยาลัยนเรศวร มีความประสงค์จ่ายเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (KTB Corporate Online) ต้องทำอย่างไร
A
กระทรวงการคลังได้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติในการจ่ายเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (KTB Corporate Online) เพื่อให้หน่วยงานที่มีความประสงค์จ่ายเงินผ่านระบบ KTB Corporate Online เพื่อโอนเงินให้กับผู้มีสิทธิรับเงิน นั้น โดยให้ใช้รายงานสรุปผลการโอนเงิน (Detail Report และ Summary Report /Transaction History) ที่ได้จากระบบ KTB Corporate Online เป็นหลักฐานการจ่ายเงิน และให้หน่วยงานประทับหน้าเอกสาร AP “ใช้หลักฐานการโอนเงินเป็นหลักฐานการเบิกจ่าย" โดยกองคลังจะมีการแจ้งเวียนแนวปฏิบัติการใช้หลักฐานการโอนเงิน
|
16 |
Q
การจัดกิจกรรม โครงการ ที่นิมนต์พระสงฆ์มาในพิธีการและมีค่าปัจจัยถวายพระสงฆ์นั้น ในใบสำคัญรับเงิน ผู้รับเงินต้องเป็นพระสงฆ์หรือมัคนายก
A
หากพระสงฆ์รับค่าตอบแทน แต่ไม่สามารถออกหลักฐานการรับเงินค่าปัจจัยถวายพระให้กับหน่วยงานภายในมหาวิทยาลัยนเรศวร เพื่อเป็นหลักฐานประกอบการเบิกจ่ายได้นั้น ให้ผู้รับผิดชอบโครงการ จัดทำใบรับรองการจ่ายเงินเพื่อเป็นหลักฐานประกอบการขอเบิกเงิน
โดยกรณีดังกล่าว ปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการเบิกเงินจากคลัง การรับเงิน การจ่ายเงิน การเก็บรักษาเงิน และการนำเงินส่งคลัง พ.ศ.2562 (ข้อ 48) “กรณีไม่อาจเรียกใบเสร็จรับเงินจากผู้รับเงินได้ ให้ข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างนั้น ทำใบรับรองการจ่ายเงินเพื่อนำมาเป็นเอกสารประกอบการขอเบิกเงินต่อส่วนราชการ” |
17 |
Q
การเบิกค่าอาหารว่างและเครื่องดื่ม แต่ร้านค้าออกใบเสร็จรับเงินระบุรายละเอียดรายการเป็น “ค่าอาหารและเครื่องดื่ม” และไม่สามารถแก้ไขใบเสร็จรับเงินได้ ควรเขียนใบรับรองแทนใบเสร็จประกอบเพิ่มหรือควรทำอย่างไร
A
สามารถใช้ใบเสร็จรับเงินดังกล่าวได้ โดยผู้รับผิดชอบโครงการสามารถระบุรายละเอียดในใบเสร็จรับเงินเพิ่มเติม ของชื่อรายการอาหาร อาหารว่างและเครื่องดื่ม เพื่อประกอบการเบิกจ่ายค่าอาหาร อาหารว่างและเครื่องดื่ม ตามภารกิจของการปฏิบัติราชการที่ได้รับการอนุมัติ
|
18 |
Q
การเดินทางไปราชการโดยพาหนะรถตู้เช่าหรือรถยนต์ส่วนตัว สามารถเบิกจ่ายค่าทางด่วนได้หรือไม่
A
การเดินทางไปราชการโดยพาหนะรถตู้เช่าหรือรถยนต์ส่วนตัว ไม่สามารถเบิกจ่ายได้
โดยตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายในการบริหารงานของส่วนราชการ พ.ศ.2553 และหนังสือเวียนกระทรวงการคลัง ที่ กค 0406.4/ว 96 ลงวันที่ 16 กันยายน 2553 เรื่อง รายการค่าใช้สอยตามข้อ 12 ตารางแนบท้าย ข้อ 20 กำหนดการเบิกจ่ายค่าผ่านทางด่วนได้เฉพาะในกรณี “รถยนต์ของส่วนราชการตามระเบียบว่าด้วยรถราชการ ซึ่งส่วนราชการได้มาโดยวิธีการซื้อ การยืม หรือรับบริจาค หรือได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลต่างประเทศหรือองค์การระหว่างประเทศและขึ้นทะเบียนเป็นครุภัณฑ์ของส่วนราชการนั้น”
|
19 |
Q
วิทยากรมีผู้ติดตาม สามารถเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายให้กับผู้ติดตามได้หรือไม่
A
ผู้ติดตาม ไม่สามารถเบิกจ่ายได้ ตามระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรม การจัดงานและการประชุมระหว่างประเทศ พ.ศ.2549 และแก้ไขเพิ่มเติม ข้อ 10 (1) ได้กำหนดบุคคลที่เบิกจ่ายได้ตามระเบียบนี้ เฉพาะ “ผู้ติดตามของประธานในพิธีและแขกผู้มีเกียรติ” เท่านั้น
|
20 |
Q
ค่าจัดพิมพ์นามบัตร สามารถเบิกจ่ายให้กับกรรมการสภามหาวิทยาลัย หรือบุคคลภายนอกได้หรือไม่
A
กรรมการสภามหาวิทยาลัย หรือบุคคลภายนอกไม่สามารถเบิกจ่ายค่าจัดพิมพ์นามบัตรได้
ตามประกาศเงินรายได้มหาวิทยาลัยนเรศวร เรื่องรายการและอัตราการเบิกจ่ายเงินรายได้ของมหาวิทยาลัย กำหนดให้เบิกจ่ายค่าจัดพิมพ์นามบัตรได้เฉพาะบุคลากรมหาวิทยาลัย ในอัตราตามจ่ายจริงไม่เกิน 1,500 บาทต่อคนต่อครั้ง ตามที่ระบุไว้ในหมวด 6 ข้อ 40 ค่าใช้จ่ายสำหรับบุคลากรและสวัสดิการ
|
21 |
Q
การซื้อตั๋วเครื่องบินสามารถซื้อผ่านตัวแทนจำหน่ายได้หรือไม่ เนื่องจากมีกรณีซื้อตั๋วเครื่องบินผ่านตัวแทนจำหน่ายแล้วได้ตั๋วปลอมและไม่สามารถเดินทางได้ เบิกจ่ายได้หรือไม่แล้วใครเป็นผู้รับผิดชอบ
A
การซื้อตั๋วเครื่องบิน สามารถซื้อผ่านตัวแทนจำหน่ายได้
ตามหนังสือเวียนกระทรวงการคลัง ที่ กค 0408.4/ว165 ลงวันที่ 22 ธันวาคม 2559 เรื่องหลักเกณฑ์และหลักฐานประกอบการเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการในราชอาณาจักรและการเดินทางราชการต่างประเทศ และวิธีปฏิบัติกรณีผู้เดินทางทำหลักฐานประกอบการเบิกจ่ายเงินสูญหาย
หากผู้เดินทางได้ทำการจัดซื้อผ่านตัวแทนจำหน่ายแต่รับหลักฐานเป็นตั๋วปลอมและไม่สามารถเดินทางไปราชการได้นั้น ไม่สามารถเบิกจ่ายได้ โดยผู้เดินทาง ต้องนำหลักฐานดังกล่าวแจ้งความและฟ้องร้องดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป เพื่อมิให้เกิดผลกระทบต่อความเสียหายในกรณีดังกล่าว เมื่อผู้เดินทางจะจองตั๋วเครื่องบินและชำระเงินค่าจัดซื้อตั๋วผ่านตัวแทนจำหน่าย ขอให้ระมัดระวังการจองตั๋วและตรวจสอบตัวแทนจำหน่ายก่อนดำเนินการ |
22 |
Q
กรณีเดินทางโดยใช้รถของส่วนราชการ เพื่อรอรับบุคลากรที่สนามบินแล้วมีค่าจอดรถ ใช้อะไรเป็นหลักฐานในการเบิกจ่าย
A
ให้ใช้หลักฐานประกอบการเบิกจ่าย อันได้แก่ (1) ใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษีอย่างย่อ ที่ทางสนามบิน ได้ออกหลักฐานให้กับผู้จอดรถ ควบคู่กับ (2) ใบรับรองการจ่ายเงิน ที่ผู้เดินทางรับรอง เพื่อนำมาเป็นเอกสารประกอบการขอเบิกเงินค่าจอดรถ เนื่องจากรายละเอียดหลักฐานที่ได้รับจากสนามบินมีรายการไม่ครบถ้วน ที่กำหนดไว้ตามระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการเบิกเงินจากคลัง การรับเงิน การจ่ายเงิน การเก็บรักษาเงิน และการนำเงินส่งคลัง พ.ศ.2562 ข้อ 46 ใบเสร็จรับเงินอย่างน้องต้องมีรายการ ดังต่อไปนี้
(1) ชื่อ สถานที่อยู่ หรือที่ทำการของผู้รับเงิน (2) วัน เดือน ปี ที่รับเงิน (3) รายการแสดงการรับเงินระบุว่าเป็นค่าอะไร (4) จำนวนเงินทั้งตัวเลขและตัวอักษร (5) ลายมือชื่อของผู้รับเงิน |
23 |
Q
นิสิตสามารถเบิกค่าตรวจร่างกายเพื่อตรวจหาสารกัมมันตรังสีได้หรือไม่
A
นิสิตไม่สามารถเบิกจ่ายค่าตรวจร่างกายเพื่อตรวจหาสารกัมมันตรังสี
ตามประกาศเงินรายได้มหาวิทยาลัยนเรศวร เรื่องรายการและอัตราการเบิกจ่ายเงินรายได้ของมหาวิทยาลัย กำหนดให้เบิกจ่ายค่าตรวจร่างกายเพื่อตรวจหาสารกัมมันตรังสีได้เฉพาะบุคลากรมหาวิทยาลัย ในอัตราตามจ่ายจริง ตามที่ระบุไว้ในหมวด 6 ข้อ 39 ค่าใช้จ่ายสำหรับบุคลากรและสวัสดิการ
|
24 |
Q
กรณีมีการจัดประกวดแข่งขัน และมีการจ่ายเงินรางวัลให้กับนิสิต ต้องแนบสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน หรือ บัตรประจำตัวนิสิต
A
การจ่ายเงินรางวัลให้กับนิสิต ใช้หลักฐานใบสำคัญรับเงินพร้อมแนบสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน หรือ สำเนาบัตรประจำตัวนิสิต เป็นหลักฐานการเบิกจ่ายเพื่อเป็นการยืนยันการรับเงินของนิสิตจริง
|
25 |
Q
การเดินทางไปราชการ มีข้อเสนอแนะหรือไม่ ว่าควรไปด้วยวิธีการใด เช่น ควรเดินทางด้วยรถประจำทาง
A
การใช้พาหนะในการเดินทางไปราชการให้อยู่ในดุลยพินิจของหัวหน้าส่วนราชการ โดยคำนึงถึงเหตุผล ความจำเป็น และประหยัด ตามพระราชกฤษฏีกา ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการ พ.ศ.2548 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ตามข้อ 8 วรรคสอง “ให้ผู้มีอำนาจอนุมัติการเดินทางอนุมัติระยะเวลาในการเดินทางไปราชการตามความจำเป็นเหมาะสมตามหลักเกณฑ์ที่กระทรวงการคลังกำหนด”
|
26 |
Q
กรณีใบสำคัญรับเงินค่าตอบแทน เช่น ค่าตอบแทนวิทยากร หรือ ใบสำคัญรับเงินสำหรับวิทยากร ต้องระบุที่อยู่อย่างไร
A
ให้ระบุที่อยู่ที่เป็นไปตามบ้านพักอาศัยปัจจุบัน หรือตามบัตรประจำตัวบัตรประชาชน ไม่ควรระบุที่อยู่ของหน่วยงานที่สังกัด
|
27 |
Q
การโอนเงินผ่าน Krungthai Corporate เพื่อจ่ายชำระหนี้ให้กับผู้ขายหรือเจ้าหนี้ของหน่วยงานต่างธนาคาร และมีค่าธรรมเนียมธนาคารเกิดขึ้น สามารถนำมาเบิกจ่ายกับเงินรายได้ของหน่วยงานได้หรือไม่
A
ค่าธรรมเนียมธนาคารที่เกิดขึ้นจากการจ่ายชำระหนี้ให้กับผู้ขายโดยการโอนเงินผ่าน Krungthai Corporate ไปต่างธนาคาร เป็นไปตามเงื่อนไขที่ธนาคารเรียกเก็บนั้น ไม่สามารถนำมาเบิกจ่ายเป็นค่าใช้จ่ายของหน่วยงานได้ ซึ่งค่าธรรมเนียมดังกล่าวต้องเป็นภาระความรับผิดชอบของผู้ขาย
หากกรณีค่าธรรมเนียมในการโอนเงินไปยังปลายทางที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงานของหน่วยงานที่โอนให้กับผู้ขายไม่สำเร็จ ค่าธรรมเนียมที่เกิดขึ้นสามารถนำมาเบิกจ่ายจากเงินรายได้ของหน่วยงานได้ |
28 |
Q
กรณีพนักงานมหาวิทยาลัยนเรศวรมีคำสั่งให้เดินทางไปราชการคนเดียว และมีการเทียบตำแหน่งเพื่อเทียบสิทธิการเบิกค่าใช้จ่ายในการเดินทาง โดยพาหนะเครื่องบิน จะต้องจัดทำรายงานการเดินทางเพื่อขอเบิกโดยเบิกในแบบฟอร์มอย่างไร
A
กรณีพนักงานมหาวิทยาลัย เดินทางไปราชการคนเดียว ให้จัดทำการขอเบิกค่าเดินทางในแบบฟอร์ม ใบเบิกค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการ (แบบ 8708) ตามระเบียบกระทรวงการคลังกำหนด โดยไม่ต้องจัดทำหลักฐานการจ่ายเงินใบขวาง (แบบ 8708 ส่วนที่ 2)
และผู้เดินทางได้มีการเทียบตำแหน่งเพื่อขอเบิกค่าใช้จ่ายในการเดินทางโดยพาหนะเครื่องบินแล้ว ให้ระบุคำรับรองของการเทียบตำแหน่งในหมายเหตุใบเบิกค่าใช้จ่ายในการเดินทางหน้าที่ 2 โดยระบุคำว่า “ข้าพเจ้า.....................................................พนักงานมหาวิทยาลัยโดยเงิน......................................ตำแหน่ง................................วุฒิการศึกษา..............................อายุการทำงาน..............ปี ขอรับรองว่าข้าพเจ้ามีสิทธิเดินทางโดยพาหนะเครื่องบินได้ เทียบเท่าตำแหน่งข้าราชการพลเรือนตำแหน่งประเภท.......................ระดับ..................... ตามสิทธิการเทียบตำแหน่งเรียบร้อยแล้ว” การเทียบตำแหน่งพนักงานมหาวิทยาลัยเทียบเท่าตำแหน่งข้าราชการพลเรือน เพื่อใช้สิทธิในการเบิกค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการตามนัยพระราชกฤษฎีกาค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการพ.ศ.2526 และที่แก้ไขเพิ่มเติม อ้างอิงตามหนังสือกรมบัญชีกลาง ที่ กค0406.6/38143 ลงวันที่ 22 กันยายน 2558 เรื่องการเทียบตำแหน่งพนักงานมหาวิทยาลัยนเรศวร |
29 |
Q
แนวปฏิบัติที่กำหนดระยะเวลาการเบิกจ่ายเงินประจำปีงบประมาณ ในกรณีที่ภายหลังรอบระยะเวลาการเบิกจ่าย ให้หน่วยงานจัดทำแผนการเบิกจ่ายสำหรับค่าใช้จ่ายของกิจกรรม/โครงการที่ได้รับการอนุมัติ ในช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายนในแต่ละปีนั้น หากมีกิจกรรมหรือโครงการที่เร่งด่วน และไม่ได้กำหนดไว้ในแผนการเบิกจ่าย หน่วยงานสามารถดำเนินการได้อย่างไร
A
หากหน่วยงานจัดทำแผนการเบิกจ่ายของหน่วยงานมาแล้ว แต่มีกรณีที่มีกิจกรรมหรือโครงการที่ได้รับการอนุมัติให้ดำเนินการโดยเร่งด่วนในช่วงสิงหาคม – กันยายน หน่วยงานสามารถจัดทำแผนการเบิกจ่ายเพิ่มเติม เพื่อให้มหาวิทยาลัยพิจารณาการเบิกจ่ายให้ทันภายในปีงบประมาณที่กิจกรรม/โครงการเกิดขึ้น เพื่อมิให้มีผลกระทบต่อรายจ่ายค้างเบิกข้ามปีงบประมาณ
|
30 |
Q
กรณีมีการเชิญวิทยากร จำเป็นจะต้องมีหนังสือตอบรับจากวิทยากรหรือไม่ หากไม่มีควรต้องทำอย่างไร
A
วิทยากรที่ได้รับเชิญจากมหาวิทยาลัย ต้องจัดทำการตอบรับเป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อเป็นการยืนยันการตอบรับที่ได้นัดหมาย และเป็นหลักฐานประกอบการเบิกจ่ายค่าตอบแทน และค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่จ่ายให้กับวิทยากรตามระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการฝึกอบรม การจัดงานและการประชุมระหว่างประเทศ พ.ศ.2549 และแก้ไขเพิ่มเติม โดยเฉพาะวิทยากรที่สังกัดหน่วยงานภาครัฐเพื่อป้องกันปัญหาการมาปฏิบัติงานโดยไม่ได้รับอนุญาตจากต้นสังกัด
โดยการตอบรับแบบลายลักษณ์อักษร สามารถตอบรับได้หลายรูปแบบ เช่น หนังสือราชการ, จดหมายการตอบรับ, จดหมายตอบรับแบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือแบบฟอร์มการตอบรับการเป็นวิทยากรที่หน่วยงานกำหนดขึ้น เป็นต้น |
31 |
Q
การเบิกค่าพาหนะรับจ้าง (ค่ารถแท็กซี่) มีขั้นต่ำในการเบิกจ่ายเงินเหรือไม่
A
การเบิกค่าพาหนะรับจ้าง เบิกจ่ายได้เท่าที่จ่ายจริงแต่ไม่เกินอัตราที่กระทรวงการคลังกำหนด โดยให้ผู้เดินทางระบุรายละเอียดจุดเริ่มต้นการเดินทาง และจุดหมายปลายทางของการเดินทางให้ชัดเจน ในแบบฟอร์มใบรับรองแทนใบเสร็จรับเงิน
|
32 |
Q
การค้นหาระยะทางจากเว็บกรมทางหลวงต้องค้นหาละเอียดขนาดไหน เพื่อใช้ในการเบิกจ่ายค่าชดเชยน้ำมันพาหนะส่วนตัว กรณีได้รับอนุมัติให้เดินทางโดยยานพาหนะส่วนตัว เพราะบางสถานที่ยังไม่มีในกรมทางหลวง
A
กรณีที่ไม่มีเส้นทางที่กำหนดโดยกรมทางหลวง สามารถใช้ระยะทางที่ค้นหาจาก Google Maps ได้ โดยผู้เดินทางเป็นผู้รับรองการขอใช้ระยะทางจาก Google Maps เป็นระยะทางในการเบิกเงินค่าชดเชยน้ำมันพาหนะส่วนตัว
|
33 |
Q
การเบิกเงินชดเชยน้ำมันพาหนะส่วนตัว ในใบสำคัญรับเงินสำหรับวิทยากร ต้องใช้ใบรับรองแทนใบเสร็จหรือไม่
A
ไม่ต้องใช้หลักฐานใบรับรองแทนใบเสร็จ สามารถระบุค่าชดเชยน้ำมันรถยนต์ส่วนตัวไว้ในใบสำคัญรับเงินสำหรับวิทยากร รวมถึงการเบิกเงินสมนาคุณ และค่าใช้จ่ายในการเดินทางของวิทยากร พร้อมแนบหลักฐานประกอบ เช่น ค่าเช่าที่พัก เป็นต้น
|